ธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะเติบโตสูงสุดในรุ่นของผู้บุกเบิกธุรกิจ หรือคนรุ่น 1 และลดหลั่นลงมา ในผู้บริหารรุ่นถัดไป เนื่องจากขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าแบบก้าวกระโดด เจ้าของธุรกิจที่เป็นคนรุ่นหลานหรือรุ่นที่ 3 ซึ่งมีระดับการศึกษาและความรู้ความเข้าใจโลกธุรกิจ มักจะเปิดทางให้ผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาดำเนินกิจการ
มูลค่าธุรกิจครอบครัวของประเทศไทยแตะ 30 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของทั้งระบบเศรษฐกิจ ติดอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 7 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีธุรกิจที่รายได้เกิน 200 ล้านบาทต่อปี ถึง 2.5 หมื่นแห่ง จึงถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจ โดย 75% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยคนในตระกูลและเครือญาติ หลายบริษัทใช้การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อประโยชน์ด้านภาพลักษณ์ทางธุรกิจ และดึงดูดพนักงานเก่งๆ มากกว่าความตั้งใจในการระดมทุนด้วยซ้ำ เนื่องจากใช้ทุนที่มีอย่างมหาศาลในการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว
สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จคือ คุณค่าและจุดมุ่งหมาย (Value and Purpose) ของครอบครัว ซึ่งควรจะสอดคล้องกับ วัตถุประสงค์ทางธุรกิจ (Business Objects) หากไม่ไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อมืออาชีพหรือผู้บริหารที่มีฝีมือจากภายนอกมารับช่วงต่อจะทำงานด้วยลำบากและยากที่จะเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จถึง 49% จะวางแผนและกลยุทธ์ทางธุรกิจระยะกลางที่เป็นรูปธรรมชัดเจน (3-5 ปี) ไว้เสมอ ซึ่งมักจะเกิดในธุรกิจที่คนรุ่น 3 บริหารจัดการและใช้มืออาชีพในองค์กร ขณะที่ธุรกิจครอบครัว 21% กลับไม่มีแผนดังกล่าว
สิ่งท้าทายสำคัญของธุรกิจครอบครัวไทยในปัจจุบันยังเป็นเรื่องช่องว่างระหว่างวัยของผู้บริหารต่างรุ่น บ่อยครั้งที่คนรุ่น 1 หรือ 2 จะไม่เชื่อถือลูกหรือคนรุ่นถัดมาทั้งที่ตั้งใจจะให้เข้ามาช่วยบริหารงาน ขณะเดียวกันการส่งมอบอำนาจการบริหารงานจากรุ่นสู่รุ่นมักจะไม่มีแผนที่ชัดเจน นอกจากนี้การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ยังเป็นส่วนที่ธุรกิจไทยต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของธุรกิจครอบครัวคือการสร้างนวัตกรรมใหม่และการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเพื่อเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล
แหล่งอ้างอิง : https://thestandard.co/global-family-business-survey-2018-grow-up/